ผลกระทบ PM 2.5 ด้านสุขภาพในประเทศไทย โรคไตเรื้อรัง



ผลกระทบ PM 2.5 ด้านสุขภาพในประเทศไทย
โรคไตเรื้อรัง

โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (chronic kidney disease prevention in the Northeast of Thailand: CKDNET) ได้จัดตั้งโครงการย่อยเพื่อศึกษาผลกระทบของมลภาวะสิ่งแวดล้อมต่อโรคไตและโรคไม่ติดต่อ ซึ่งด้านมลภาวะทางอากาศ โครงการฯ ได้ศึกษาผลกระทบทางระบาดวิทยาของ PM 2.5 ต่อสุขภาพ โดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณความเข้มข้นของ PM 2.5 กับอัตราการเสียชีวิตและอุบัติการณ์ของโรคต่างๆที่กระจายในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย 

      เนื่องจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่แสดงค่า PM 2.5 ครอบคลุมเพียงบางส่วนของประเทศ ทำให้ในบางพื้นที่ต้องอาศัยการประมาณค่า PM 2.5  โดยอาศัยข้อมูลย้อนหลังของดาวเทียมนาซ่า ซึ่งแสดงค่าความลึกเชิงแสงของอนุภาคแขวนลอยในชั้นบรรยากาศ (aerosol optical death: AOD) ทั่วโลกรวมถึงพื้นที่ของประเทศไทย (ค่า AOD บ่งบอกถึงการผ่านของรังสีดวงอาทิตย์ที่ส่องผ่านอนุภาคมายังพื้นโลก โดยอนุภาคเหล่านี้อาจรวมไปถึงฝุ่นละอองขนาดต่างๆ ควันและมลพิษที่กระจายตัวอยู่ในบรรยากาศซึ่งมีคุณสมบัติในการขวางกั้นรังสีโดยการดูดกลืนและสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ เนื่องจาก AOD เป็นค่าสัดส่วนของจำนวนอนุภาคที่วัดได้เหนือพื้นดินในแนวดิ่งขึ้นไปกับจำนวนอนุภาคที่วัดได้บริเวณจุดสังเกตบนพื้นดิน ฉะนั้นค่า AOD นี้จึงไม่มีหน่วยและค่าที่สูงจะสัมพันธ์กับการมีปริมาณอนุภาคที่มากขึ้น) 

      1,2 โครงการฯ ได้วิเคราะห์ความสอดคล้องของค่า PM 2.5 ที่ได้จากการประมาณจากค่า AOD เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน PM 2.5 ที่วัดจากเครื่องที่พื้นดิน พบความสอดคล้องร้อยละ 47 และพบว่าความสอดคล้องของค่าทั้งสองแม่นยำมากขึ้นเป็นร้อยละ 91 เมื่อสร้างสูตรโมเดลที่นำปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อค่า PM2.5 3 เข้ามาร่วมวิเคราะห์ในสูตรด้วย 

      เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิต พบว่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ug/m3 เพิ่มอัตราการเสียชีวิตรวมจากทุกสาเหตุร้อยละ 18 
และเพิ่มจากโรคไตเรื้อรังร้อยละ 6 โดยอัตราการเจ็บป่วยของโรคไตเรื้อรังพบมากในพิ้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณของฝุ่น dust, คาร์บอนอินทรีย์ และซัลเฟต โดยเฉพาะในระยะแรกๆของโรค

      นอกจากขนาดของฝุ่นละอองที่มีผลต่อสุขภาพแล้ว ชนิดองค์ประกอบของฝุ่นก็มีผลกระทบกับสุขภาพ เช่น ฝุ่นชนิด dust และคาร์บอนอินทรีย์ (organic carbon) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงที่อุณหภูมิต่ำและการเผาชีวมวลในที่โล่งและพบความเข้มข้นสูงสุดที่ภาคเหนือของไทย



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทําไมฝุ่นเข้มข้นในตอนเช้า ?

PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพ

ใครคือกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพของ PM 2.5