PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพ
PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพ
ฝุ่นละอองในอากาศประกอบด้วยสารหลายชนิด และมีขนาดต่างๆกัน เมื่อเราหายใจเข้าไป ฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่า 2.5 ไมครอน จะถูกดักจับที่ทางเดินหายใจส่วนบน ในขณะที่สารที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สามารถเคลื่อนลงไปทางเดินหายใจส่วนล่าง
ผลการทดลองในหนูพบว่า ขนาดฝุ่นละอองยิ่งมีขนาดเล็กยิ่งสามารถกระจายไปในส่วนลึกของเนื้อปอดได้มาก และเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งฝุ่นขนาดเล็กจะสามารถผ่านผนังถุงลมเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ เช่น ไต และตับ ทำให้เกิดการอักเสบ, เพิ่มปริมาณสารอนุมูลอิสระ, หลอดเลือดแข็งและอุดตัน และการทำงานของอวัยวะต่างๆลดลง นอกจากนี้ PM 2.5 อาจทำลายเซลล์ผิวหนังและแทรกผ่านทางผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้
ผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อสัมผัส PM 2.5
ผลกระทบต่อสุขภาพระยะสั้น ได้แก่
- ปวดและเวียนศีรษะ
- ระคายเคืองตา ตาแดง
- ระคายเคืองผิวหนัง
- ผลต่อทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจลำบาก ปอดและหลอดลมอักเสบ
ผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว ได้แก่
- ผลต่อระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ วิตกกังวล
- เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดอัมพาต
- เพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด รวมถึงมะเร็งปอด
- ผลต่อหลอดเลือด ทำให้ปริมาณเลือดไปอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ม้าม ไต ลดลง
- ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ และหญิงตั้งครรภ์ ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวลดลง
กลุ่มที่เสี่ยงต่อผลกระทบเหล่านี้เพิ่มขึ้น ได้แก่
- ผู้ป่วยโรคปอด, โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน และโรคไตเรื้อรัง
- เด็ก
- ผู้สูงวัย
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่ทำงาน หรือออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานาน หรืออยู่ในอาคารที่ไม่ได้ปิดมิดชิด เพราะจะทำให้มีการหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไปมากขึ้น
ข้อมูลการศึกษาในเชิงระบาดวิทยาของต่างประเทศ พบว่า การสัมผัส PM 2.5 ที่ความเข้มข้นสูงขึ้น จะสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ, โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน, มะเร็งปอด, โรคหลอดเลือดสมองและโรคถุงลมโป่งพอง
และค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ร้อยละ 27, เพิ่มความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยโรคไต มีการทำงานของไตแย่ลง ร้อยละ 28 และเพิ่มความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ร้อยละ 26
โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
(Chronic kidney disease prevention in the Northeast of Thailand: CKDNET)
CKDNET ได้จัดตั้งโครงการย่อยเพื่อศึกษาผลกระทบของมลภาวะสิ่งแวดล้อมต่อโรคไตและโรคไม่ติดต่อ ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากดาวเทียมนาซา และประมาณค่า PM 2.5 จากค่าความลึกเชิงแสงของอนุภาคแขวนลอยในชั้นบรรยากาศ (Aerosol optical death: AOD)โดยพบว่าจากข้อมูลย้อนหลังในช่วงปี คศ 2010–2015 พบว่าการกระจายของค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในประเทศไทย มีปริมาณความเข้มข้นที่สูงในพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง และเมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิต พบว่า
- ความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เพิ่มอัตราการเสียชีวิตรวมจากทุกสาเหตุร้อยละ 18
- เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจร้อยละ 30
- เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคถุงลมโป่งพองและมะร็งปอดร้อยละ 20–31
- เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 25
- เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคไตเรื้อรังร้อยละ 6
นอกจากขนาดของฝุ่นละอองที่มีผลต่อสุขภาพแล้ว ชนิดองค์ประกอบของฝุ่นก็กระทบกับสุขภาพ เช่น ฝุ่นชนิด Dust และ Organic carbon มีความเข้มข้นสูงสุดที่ภาคเหนือของไทย สัมพันธ์กับความชุกของโรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด และมะเร็งปอด ซึ่งพบมากที่สุดในบริเวณนี้ ในขณะที่ฝุ่นชนิด Black carbon พบความเข้มข้นสูงสุดที่ภาคกลาง และสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมองในบริเวณดังกล่าว
“ความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เพิ่มอัตราการเสียชีวิตรวมจากทุกสาเหตุร้อยละ 18, อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจร้อยละ 30, โรคถุงลมโป่งพองและมะร็งปอดร้อยละ 20–31, โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 25 และโรคไตเรื้อรังร้อยละ 6”
เอกสารอ้างอิง
- Li D, Li Y, Li G, Zhang Y, Li J, Chen H. Fluorescent reconstitution on deposition of PM2.5 in lung and extrapulmonary organs. Proc Natl Acad Sci U S A 2019;116(7):2488–93.
- Ngoc LTN, Park D, Lee Y, Lee YC. Systematic Review and Meta-Analysis of Human Skin Diseases Due to Particulate Matter. Int J Environ Res Public Health. 2017 Nov 25;14(12).
- Burnett R, Chen H, Szyszkowicz M, Fann N, Hubbell B, Pope CA, et al. Global estimates of mortality associated with long-term exposure to outdoor fine particulate matter.
Proc Natl Acad Sci U S A 2018;115(38):9592–97. - Apte JS, Marshall JD, Cohen AJ, Brauer M. Addressing Global Mortality from Ambient PM2.5. Environ Sci Technol 2015;49(13):8057–66.
- Bowe B, Xie Y, Li T, Yan Y, Xian H, Al-Aly Z et al. Particulate matter air pollution and the risk of incident CKD and progression to ESRD. J Am Soc Nephrol 2018;29:218–30.
- Shaddick G, Thomas ML, Green A, Brauer M, Donkelaar A, Burnett R, et al. Data integration model for air quality: a hierarchical approach to the global estimation of exposures to ambient air pollution. Appl.Statist 2018; 67: 231–53.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น