การเผานาข้าวและปัญหาฝุ่น PM 2.5



การเผานาข้าวและปัญหาฝุ่น PM 2.5
 
      การเผาในที่โล่งในภาคการเกษตร เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนชาวไทย โดยการเผาตอซังและฟางข้าวเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกในฤดูกาลต่อไป เป็นปัญหาสำคัญในระดับประเทศ เพราะมีพื้นที่ปลูกข้าวมากถึง 70 ล้านไร่ต่อปี ทำให้ปริมาณมวลชีวภาพในพื้นที่นาที่สามารถเผาไหม้ได้อาจมีมากกว่า 30 ล้านตัน ดังนั้น การลดปริมาณการเผาตอซังและฟางข้าวจึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของภาครัฐร่วมกับประชาชนในพื้นที่แม้การเผาเป็นการเตรียมพื้นที่ปลูกที่เร็วและมีต้นทุนต่ำ สามารถกำจัดเศษพืชและจัดการวัชพืชอย่างได้ผล แต่มีผลกระทบทำให้ในระยะยาวดินจะขาดความอุดมสมบูรณ์เพราะการเผาทำให้สูญเสียธาตุอาหารแทนที่จะได้ย่อยสลายกลับคืนไปสู่พื้นดินและเป็นประโยชน์ต่อการปลูกในฤดูกาลต่อไป 

      ทั้งนี้ ชาวนาบางส่วนยังเลือกที่จะเผาก็เพราะต้องการเตรียมพื้นที่ให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการหมักฟางในนาให้ย่อยสลายก่อนการไถกลบต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชลประทานที่มีการปลูกข้าวนาปรัง ชาวนาอาจมีเวลาจำกัดเพียง 10-15 วันที่จะเตรียมพื้นที่นาให้เสร็จเพื่อให้สามารถรับน้ำชลประทานที่จะปล่อยมาให้ได้ทันตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ในระดับชุมชน ในขณะที่ชาวนาบางส่วนเลือกการเผาด้วยเหตุผลของความสะดวกและต้นทุนต่ำ แต่ก็มีชาวนาอีกจำนวนมากที่ไม่เผาและเลือกที่จะใช้วิธีการอื่นๆที่อาจมีต้นทุนมากกว่าแต่ให้ผลตอบแทนสุทธิโดยรวมที่คุ้มค่ากว่าการเผา

      วิธีทางเลือกอื่นๆที่ควรได้รับการต่อยอดสนับสนุนและพัฒนาทั้งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนจัดมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อให้สามารถขยายผลส่งเสริมให้ใช้เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ได้แก่ 
• การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้กับฟางข้าว เช่น การนำไปใช้เพาะเห็ด ทำปุ๋ยหมัก ทำเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และเป็นอาหารสัตว์
• เครื่องจักรกลการเกษตรในการเก็บเกี่ยวฟางและตอซังข้าว การขนส่ง และระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ 
• นวัตกรรมเร่งการหมักเพื่อย่อยสลายตอซังและฟางข้าวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความจำเป็นที่จะต้องเผา 
• เครื่องจักรกลการเกษตรในระบบการปลูกข้าวบนพื้นที่ที่ไม่ต้องเผาตอซังและฟาง และในพื้นที่ที่มีการเตรียมน้อยมาก เช่น ข้าวนาหยอด 

     ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีระดับความพร้อมของนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพียงพอที่จะกำหนดเป้าหมายไม่ให้มีการเผาตอซังและฟางข้าวในพื้นที่ที่ปลูกเฉพาะข้าวนาปีได้ จึงควรเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างแรงจูงใจทั้งด้านจิตสำนึกและการสนับสนุนการลงทุน เพื่อให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีอยู่สามารถเข้าไปใช้ได้จริงอย่างกว้างขวาง ลดปัญหาการเผาในที่โล่งในนาข้าวซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน


จุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในนาข้าว ในปี 2561 และ 2562 (ที่มา: GISTDA)


การเผาเศษฟางข้าวในนา เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวรุ่นต่อไปได้อย่างเร็ว เป็นต้นเหตุสำคัญของ
มลพิษทางอากาศในประเทศไทย (ที่มา: https://apps.sentinel-hub.com/sentinel-playground/)


การเก็บรวบรวมฟางข้าวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น อาหารสัตว์ แทนการเผาทิ้ง
ช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศได้ที่ต้นเหตุ (ที่มา: นาข้าวในเมือง Jeongu สาธารณรัฐเกาหลี)



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทําไมฝุ่นเข้มข้นในตอนเช้า ?

PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพ

ใครคือกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพของ PM 2.5