ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล : มีจุดสว่างให้ความหวังในความมืดสลัว



ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล 
: มีจุดสว่างให้ความหวังในความมืดสลัว
 
      ด้วยต้นเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM  2.5 ในประเทศไทยมาจากการเผาในที่โล่งซึ่งรวมทั้งภาคเกษตรและป่าไม้ โดยมากเกินครึ่งของหมอกควันและฝุ่นจากการเผาในภาคเกษตรมาจากไร่อ้อย เพราะมีปริมาณมวลชีวภาพที่สามารถเผาไหม้ได้มากถึง 2-2.5 ตันต่อไร่ และมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 10 ล้านไร่ติดต่อกันมาหลายปี 

       ดังนั้นการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของรัฐบาล
หลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นอย่างรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในช่วงต้นปี 2562 

      คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้เห็นชอบมาตรการลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อมุ่งลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน โดยกำหนดให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรับซื้ออ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้ในสัดส่วน 70:30 แต่หลังการเจรจากับเกษตรกรและโรงงาน ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 จึงมีมติให้ปรับสัดส่วนให้รับซื้ออ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 50% โดยคงระเบียบเดิมเรื่องการหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ 30 บาทต่อตันไปเพิ่มให้กับอ้อยสด นอกจากนี้ ยังเพิ่มโทษปรับในอัตรา 12 บาทต่อตัน ในกรณีที่โรงงานรับอ้อยไฟไหม้เกินกว่าที่กำหนด (50%) โดยเงินค่าปรับทั้งหมด จะนำไปเข้า “กองทุน” ที่ใช้สำหรับโครงการลดอ้อยไฟไหม้ และมาตรการที่รัฐบาลผ่อนผันให้โรงงานน้ำตาลซื้ออ้อยไฟไหม้ได้นี้ จะค่อยๆ ลดสัดส่วนการซื้ออ้อยไฟไหม้ไปจนถึงระดับ 0 - 5% ในปี 2565

     ในปีการผลิต 2562/2563 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่า 11.5 ล้านไร่ จากข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2563 อ้อยที่เข้าหีบที่โรงงานแล้วมีปริมาณ 74.6 ล้านตัน โดยประมาณครึ่งหนึ่ง (49.8%) เป็นอ้อยไฟไหม้ ทำให้ในภาพรวมของอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะมีอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 50% ได้ตามเป้าหมาย แม้มีถึง 7 โรงงานที่รับซื้ออ้อยไฟไหม้ในสัดส่วนมากกว่า 70% แต่มี 1 โรงงานที่สามารถรับซื้ออ้อยไฟไหม้เพียง 7% (ราชบุรี) และอีก 2 โรงงานที่รับซื้ออ้อยไฟไหม้ได้น้อยกว่า 15% (ปราณบุรี และ รวมเกษตรกร(ชย.)) ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี ควรใช้เป็นต้นแบบให้มีการเรียนรู้การใช้ระบบบริหารจัดการที่ดีและเหมาะสม เช่น 
• การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการเก็บเกี่ยว 
• การขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน และมาตรการณ์อื่น ๆ เพื่อให้โรงงานน้ำตาลในประเทศสามารถลดสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ได้ลงถึงเป้าหมายไม่เกิน 30% ในปีการผลิตต่อไป และแก้ปัญหาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในประเทศไทยมาจากการเผาในที่โล่งได้อย่างยั่งยืน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน


ภาพซ้าย คือ ปริมาณผลผลิตอ้อยรวมทั้งประเทศ (ล้านตัน) และสัดส่วนของอ้อยไฟไหม้ (%)
(ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2563 ซึ่งฤดูการผลิต 2562/2563 ยังไม่ปิดหีบ)

ภาพขวา คือ จุดความร้อนที่เกิดจากอ้อยไฟไหม้ ในปี 2561 และ 2562


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทําไมฝุ่นเข้มข้นในตอนเช้า ?

PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพ

ใครคือกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพของ PM 2.5