ฝุ่นข้ามแดนสู่ประเทศไทย



ฝุ่นข้ามแดนสู่ประเทศไทย

     ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในประเทศไทยเกิดวนกันไปทุกภูมิภาคทั้งปีในช่วงเวลาที่แตกต่างกันตามภูมิภาค มีทั้งฝุ่นควันภายในประเทศและฝุ่นควันข้ามแดน ฝุ่นควันในประเทศเพื่อนบ้านพัดเข้าสู่ประเทศไทยขึ้นอยู่กับทิศทางลมเป็นสำคัญ

• ภาคเหนือ : ภาคเหนือมักได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนจากประเทศพม่ารุนแรง ซึ่งประเทศพม่ามีการเผาป่าและพืชไร่หมุนเวียนมากเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบน และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ลมตะวันตกพัดจากพม่าเข้าสู่ประเทศไทยทำให้เกิดหมอกควันเป็นจำนวนมากปกคลุมทั่วทั้งภาคเหนือ ผสมกับหมอกควันจากการเผาป่าในประเทศไทย

• ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร : สำหรับในพื้นที่ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันจากการเผาในที่โล่งจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงและฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศกัมพูชาในช่วงเดือนธันวาคม ถึง กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากลมส่วนใหญ่พัดจากทิศตะวันออกมาทางตะวันตกผ่านจุดเผาไหม้ที่สำคัญในประเทศเพื่อนบ้านคือกัมพูชาเข้าสู่กรุงเทพฯ

• ภาคใต้ : ภาคใต้จะได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนจากหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเกิดจุดเผาไหม้จำนวนมากในป่าพรุ ส่วนใหญ่เป็นการขยายพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศของพื้นที่ภาคใต้ในทุกปี

• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปัญหาหลักของ PM 2.5 มาจากการเผาในภาคการเกษตรโดยเฉพาะอ้อยทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวซึ่งก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศกัมพูชาและลาว เช่นกัน

บทความโดยทีมงานเพจฝ่าฝุ่น
ข้อมูลโดย ดร. ระชา เดชชาญชัยวงศ์
สถานวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ
และภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทําไมฝุ่นเข้มข้นในตอนเช้า ?

PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพ

ใครคือกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพของ PM 2.5