ไฟป่าช่วยเพิ่มผลผลิตผักหวานป่า จริงหรือไม่?



ไฟป่าช่วยเพิ่มผลผลิตผักหวานป่า จริงหรือไม่?

 
​      เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคมด้วยสภาพอากาศร้อนและแล้ง ผักป่าหลายชนิดกลับแตกยอดออกดอกจนกลายเป็นอาหารตามฤดูกาลที่หลายๆคนต้องการหามาลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็น
• ยอดและดอกผักติ้ว (ติ้วส้ม) 
• ผักเสี้ยว (เสี้ยวดอกขาว) 
• ผักเฮือด 
• ยอดส้มป่อย 
• ผักหวานป่า ซึ่งเป็นผักป่าที่รสชาติอร่อยที่สุดของหน้าแล้งก็กว่าได้  

      ปัจจุบันผักหวานป่ากลายเป็นผักป่าที่มีราคาแพง สูงตามความต้องการของตลาดและนำไปสู่การพัฒนาการปลูกเชิงการค้ามาก หากเปรียบเทียบถึงรสชาติของผักหวานป่าที่ได้จากป่า ย่อมเหนือกว่าผักหวานป่าจากแปลงปลูก
      มารู้จักผักหวานป่าในประเทศไทยกล่าวได้ว่า มีอยู่ 2 ชนิดคือ
1. ผักหวานป่าเหนือ (Melientha suavis Pierre) เป็นชนิดที่พบแหล่งกระจายหลักอยู่ในป่าผลัดใบ(ป่าเต็งรังและป่าผสมผลัดใบ) ของภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลาง
2. ผักหวานป่าใต้ หรือ บางครั้งเรียกว่า ผักพูม (Champereia manillana (Blume) Merr.) เป็นชนิดที่พบแหล่งกระจายหลักอยู่ในป่าดงดิบ (ป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น) ของภาคใต้ ภาคตะวันตกและอีสานใต้  
      นิเวศของผักหวานป่าทั้งสองชนิดจัดได้ว่าเป็นไม้พุ่มผลัดใบกึ่งเบียนราก (Deciduous root parasitic shrubby tree or shrub) ดังที่เราเรียกทั่วๆ ไปว่า กาฝาก เพราะรากของพืชทั้งสองชนิดนี้ไปแย่งน้ำแย่งอาหารจากพืชอื่น ขณะเดียวกันภายในต้นเดียวกันมีใบสีเขียวเพื่อสังเคราะห์แสง สร้างอาหารได้เช่นเดียวกับพืชดอกอื่นๆ 

      เมื่อเปรียบเทียบรสชาติของผักหวานป่าทั้งสองชนิดพบว่าความหวานและความอร่อยของผักหวานป่าเหนือดีกว่าผักหวานป่าใต้มาก  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะเนื่องจากผักหวานป่าเหนือเป็นไม้พุ่มกึ่งเบียนรากที่ผลัดใบเพื่อฟักตัวในช่วงหน้าแล้งเป็นเวลายาวนาน 2-3 เดือน  และเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายหน้าแล้งผักหวานป่าเหนือจะผลิใบอ่อนและแตกช่อดอกเพื่อติดผล ดังนั้นปริมาณสารอาหารจึงได้สะสมในยอดและช่อดอกอ่อนมีมากกว่าผักหวานป่าใต้ เพราะผักหวานป่าใต้ฟักตัวในช่วงหน้าแล้งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียง  0.5-1 เดือน  
      จากคำถามว่า “ไฟป่าช่วยเพิ่มผลผลิตผักหวานป่า จริง หรือ?” ในประเด็นนี้มีทั้งความจริงบางส่วน ต่อการเพิ่มผลผลิตปริมาณยอดผักหวานป่า แต่มีผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตผักหวานป่าเหนือด้วยเช่นกันคือ การเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าที่มีต้นผักหวานป่าเหนือนั้น แม้ว่าไฟป่าเกิดเผาไหม้ไม่รุนแรงเพียงเผาลวก ต้นผักหวานป่าในช่วงที่ยังไม่ผลัดใบ ทำให้ต้นผักหวานป่าเหนือทิ้งใบเข้าช่วงฟักตัวเร็วขึ้นและเมื่อผ่านระยะฟักตัวแล้ว ส่งผลให้เกิดผลิใบอ่อนไวกว่าต้นที่ผลัดใบตามเวลาปกติ ประจวบเหมาะกับปริมาณยอดผักหวานป่าในท้องตลาดยังมีน้อยราคาขายยอดผักหวานป่าสูงกว่าในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผักหวานป่า หรือไฟป่าเกิดในช่วงผลิใบอ่อนต้นผักหวานป่าเป็นทำลายต่อต้นผักหวานป่าโดยตรง 

      แต่กระนั้นหากเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผักหวานป่าอยู่แล้วนั้น การเกิดไฟป่าเผาไหม้ต้นผักหวานป่ากลับส่งผลกระทบต่อต้นผักหวานป่ามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของไฟป่า และมีผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตผักหวานป่าในระยะยาวทำให้ผลผลิตน้อยในฤดูกาลถัดไป

      “หากไม่ใช้ไฟป่าเลยต่อการเก็บเกี่ยวยอดผักหวานป่าทำได้ไหม?” แน่นอนทำได้และสามารถลดผลกระทบระยะยาวต่อปริมาณผลผลิตของผักหวานป่าอีกด้วย การจัดการให้ต้นผักหวานป่าแตกใบอ่อน เร็วขึ้นโดยไม่ใช้ไฟป่านั้นก็คือ 
• การรูดใบแก่ผักหวานป่าทิ้งก่อนช่วงเวลาต้นผักหวานป่าที่จะทิ้งใบเอง ซึ่งได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกับไฟป่า และเกิดผลดีในแง่ที่ต้นผักหวานป่าสามารถแตกกิ่งก้านสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นหมายความว่าปริมาณผลผลิตใบอ่อนของต้นผักหวานป่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน

       ไฟป่า ไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายแต่อย่างใด แต่การใช้และจัดการไฟป่าอย่างเหมาะสมและชาญฉลาดเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะหากเราป้องกันป่าผลัดใบไม่ให้มีไฟป่าเกิดขึ้นเลย ต้นผักหวานป่าเหนือก็จะค่อยๆตายและหายไปจากพื้นที่ป่าในที่สุด เนื่องจากปัญหาที่เกิดจากโรคและแมลง

บทความโดยทีมงานเพจฝ่าฝุ่น
ข้อมูลโดย อ.วิชาญ เอียดทอง
ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทําไมฝุ่นเข้มข้นในตอนเช้า ?

PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพ

ใครคือกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพของ PM 2.5