ทำไมคนไทยถึงเผาป่า ?



ทำไมคนไทยถึงเผาป่า?

     ไฟเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาหลายล้านปี และไฟเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์วิวัฒนาการเหนือสัตว์ทั้งปวงเพราะมนุษย์กล้าที่จะเล่นกับไฟ ไม่กลัวไฟ จากหลักฐานพบว่ามนุษย์กลุ่มแรกที่เริ่มรู้จักการใช้ไฟคือ Homo erectus ซึ่งเริ่มเมื่อประมาณ 1.7-1.5 ล้านปีก่อน หลังจากนั้นหลักฐานทางโบราณคดีปรากฏให้เห็นว่ามนุษย์ในส่วนต่างๆ ของโลกได้รู้จักและใช้ประโยชน์จากไฟมาเป็นเวลายาวนาน เช่น 
• ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาใช้ไฟเพื่อการสงครามและจัดการทุ่งหญ้าแพรี่มายาวนาน 
• ชาวพื้นเมือง Aborigin ในทวีปออสเตรเลียมีการใช้ไฟมายาวนานกว่า 40,000 ปี 
ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีรายงานหลักฐานการใช้ไฟของมนุษย์มาตั้งแต่ประมาณ 12,000-38,000 ปี เป็นต้น การใช้ไฟมีทั้งการใช้เพื่อการยังชีพดำรงชีวิต และการใช้ไฟในเชิงวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อ

     ในปัจจุบัน มนุษย์ก็ยังคงใช้ประโยชน์จากไฟในหลากหลายวัตถุประสงค์ เช่น ใช้ไฟเพื่อ
• การล่าสัตว์ ทั้งการเผาเพื่อไล่สัตว์ออกมาจากที่หลบซ่อนเพื่อดักจับและการเผาเพื่อให้เกิดหญ้าระบัดดึงดูดสัตว์เข้ามาแล้วดักยิง 
• การเผาเพื่อเก็บหาของป่า (โดยเฉพาะผักหวาน เห็ดเผาะ) ที่ยังมีข้อถกเถียงว่าการเผาหรือไม่เผาจะทำให้ผลผลิตของป่าเหล่านี้มีมากขึ้นจริงหรือไม่ 
• การเผาต้นสนเพื่อเก็บยางสนและไม้เกี๊ยะ 
• การใช้ไฟเพื่อเก็บหาน้ำผึ้ง 
• การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรโดยเฉพาะการถางแล้วเผา (slash-and-burn) เพื่อเตรียมพื้นที่ในไร่หมุนเวียนของราษฎรชาวไทยภูเขา 
• การเผาเศษวัสดุที่เหลือจากการเกษตรต่างๆ เช่น เผาตอซัวข้าวโพด ฟางข้าว 
• การเผาไร่อ้อยเพื่อการเก็บเกี่ยว 

      นอกจากนี้ในด้านการป่าไม้มีการใช้ไฟในการจัดการสวนป่าตามหลักวิชาการเพื่อการกำจัดวัชพืชและลดปริมาณเชื้อเพลิง เช่น การเผาสวนป่าไม้สักทางภาคเหนือ แต่ในบางครั้งการจุดไฟเผาอาจไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ การจัดการ หรือวัฒนธรรมใดๆ แต่เป็นการจุดไฟเพราะความคึกคะนอง การจุดไฟเพราะเหตุผลความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรืออาจเกิดจากความประมาทเลินเล่อทิ้งก้นบุหรี่ การดับไฟที่จุดไว้ไม่สนิท เป็นต้น

      ถามว่า...ทำไมคนจึงยังชอบเผากันอยู่นั้น อาจมี ประเด็นที่ไขข้อข้องใจนี้ในด้านการใช้ไฟทางการเกษตร 
• ประเด็นแรก 
“ราษฎรอาจไม่อยากเผา” แต่ไม่มีทางเลือกในการจัดการที่เหมาะสมสามารถปฏิบัติได้จริงและคุ้มค่าจึงยังจำเป็นจะต้องใช้ไฟเพื่อการจัดการพื้นที่อยู่ มีคำแนะนำมากมายที่ให้นำเชื้อเพลิง เศษวัสดุการเกษตรมาแปรรูป แต่ไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติเพราะสภาพพื้นที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สุด 
• ประเด็นที่สอง “เป็นความจริงบางส่วนที่พบว่าการเผาทำให้เกิดธาตุอาหาร” ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชจำนวนมหาศาลในช่วงเวลาสั้นๆ ส่งผลให้พืชที่ปลูกได้รับธาตุอาหารอย่างเต็มที่ (แต่พืชสามารถใช้ธาตุอาหารที่เกิดขึ้นมาจากไฟนี้ได้เพียงบางส่วน ธาตุอาหารที่เหลือจึงถูกชะล้างออกไปจากพื้นที่ นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมในระยะยาว หากจัดการไฟไม่ดี) 

     ในด้านวิถีชีวิต การเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ ความเชื่อยังอยู่เหนือความจริง (แต่ความเชื่อก็อาจเป็นความจริงได้เช่นกัน) ว่า หากป่ามีไฟเผาจะมีเห็ด ผักหวานมาก รสชาติดี ซึ่งบางแห่งความเชื่อนี้ก็มีหลักฐานปรากฏชัด ในขณะที่บางแห่งความเชื่อเหล่านี้ก็ไม่จริงเสมอไป จึงต้องมีการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน

    นอกจากนี้ ความเชื่อเรื่องการเผาเพื่อเก็บหาของป่ามีความเกี่ยวโยงกับอาชีพ รายได้ในทางอ้อมของราษฎร กล่าวคือหากไม่มีของป่าให้เก็บหา (ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีไฟไหม้ป่า) ก็จะขาดรายได้ที่จะนำไปเป็นต้นทุนในการทำนาปลูกข้าวจึงทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาและหากไม่สามารถใช้หนี้ดังกล่าวได้ก็เป็นเหตุให้ต้องขายที่ดินเพื่อชดใช้หนี้

    มาถึงตรงนี้ เราก็พอจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดคนไทยจึงยังคงต้องเผา เหตุเพราะทางเลือกยังมีไม่มาก ดังนั้น อย่าเพิ่งตราหน้าพวกเขาว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคม เราต้องหาทางช่วยพวกเขานะครับทั้งเชิงเทคนิคและเชิงการจัดการ

บทความโดยทีมงานฝ่าฝุ่น
ข้อมูลโดย ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทําไมฝุ่นเข้มข้นในตอนเช้า ?

PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพ

ใครคือกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพของ PM 2.5