ฝุ่นเล็ก (PM 2.5) กับฝุ่นใหญ่ (PM 10) อะไรอันตรายกว่า


ฝุ่นเล็ก (PM 2.5) กับฝุ่นใหญ่ (PM 10) อะไรอันตรายกว่า ?

       สารอนุภาคที่แขวนลอยในอากาศ (particulate matter: PM) ไม่ใช่สารชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เป็นการผสมของสารเคมีหลากหลายชนิด ซึ่งอาจอยู่ในรูปของของแข็งที่เป็นชิ้นส่วนแห้ง, ของเหลวในรูปละอองฝอย หรือตรงกลางเป็นส่วนที่แข็งและมีของเหลวหุ้มภายนอก

       สารอนุภาคเหล่านี้มีขนาด รูปร่าง และส่วนประกอบทางเคมีที่แตกต่างกันไป และอาจมีสารอิออนกลุ่มอนินทรีย์ (inorganic ions), สารโลหะหนัก, ส่วนประกอบของคาร์บอน, สารประกอบอินทรีย์ (organic compounds) และสารที่เป็นส่วนประกอบของเปลือกโลก ร่วมด้วย

        สาร PM แบ่งเป็น อนุภาคปฐมภูมิ ซึ่งถูกปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิดโดยตรง หรือ สารอนุภาคทุติยภูมิ ซึ่งเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศจากการทำปฏิกิริยาเคมีกับก๊าซ [เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ไนโตรเจนออกไซด์ (NOX) ] และสารประกอบอินทรีย์บางชนิดที่ถูกปล่อยออกมาจากแหล่งธรรมชาติ เช่น จากต้นไม้และพืชพันธุ์ต่างๆ หรือจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น กระบวนการอุตสาหกรรม และการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงยานพาหนะ

        นอกจากการคำนึงถึงส่วนประกอบของสาร PM แล้ว ขนาดของอนุภาค PM ก็มีความสำคัญ โดยมีการแบ่งขนาดของ PM เพื่อประโยชน์ในการติดตามคุณภาพของอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ
โดยแบ่งเป็น

- PM 10 หมายถึงอนุภาคที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง10 ไมครอนหรือเล็กกว่า ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถผ่านลงไปในทางเดินหายใจและก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพได้
- PM 2.5 หมายถึงอนุภาคที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ไมครอนหรือเล็กกว่า ซึ่งด้วยขนาดที่เล็กทำให้สามารถเคลื่อนลงสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ลงไปถึงหลอดลมขนาดเล็ก ถุงลม และอาจผ่านเข้าไปในหลอดเลือดที่อยู่ใกล้ถุงลม ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ในขณะที่สารขนาด 2.5-10 ไมครอน จะค้างอยู่ที่ทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก ลำคอ หลอดลมขนาดใหญ่

         โดยพบว่า PM 2.5 เป็นส่วนประกอบประมาณ ร้อยละ 50-70 ของ PM 10 และเนื่องจาก PM 2.5 มีขนาดที่เล็กมาก ทำให้ลอยค้างในบรรยากาศได้นานหลายวันถึงหลายสัปดาห์ และถูกลมพัดให้ข้ามไปในเขตพื้นที่อื่นๆที่อยู่ห่างไกลออกไป

          ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบความอันตรายของ PM 10 และ PM 2.5 แล้ว PM 2.5 จึงอันตรายกว่าในแง่ที่สามารถลงลึกเข้าไปในเนื้อปอด กระจายไปที่อวัยวะอื่นๆทางกระแสเลือด และคงอยู่ในอากาศได้นานและไปไกลกว่า ทำให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพที่มากกว่าสาร PM ที่ขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากแหล่งที่มาของ PM 10 และ PM 2.5 มักจะแตกต่างกัน จึงมีส่วนประกอบทางเคมีที่ต่างกัน เช่น มลพิษจากการเผาไหม้ของก๊าซโซลีน, น้ำมัน, ดีเซล และผลิตภัณฑ์จากไม้ ทำให้เพิ่มปริมาณของ PM 2.5 และประกอบเป็นสัดส่วนหลักของ PM 10 ของอากาศที่อยู่ภายนอกบ้าน

            นอกจากนี้ PM 10 อาจมาจากฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง, การฝังกลบพืชทางการเกษตร, ไฟป่า, การเผาไหม้ขยะ, โรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นที่ถูกลมพัดจากพิ้นที่โล่ง, เกษร และชิ้นส่วนของเชื้อแบคทีเรีย

สามารถดาวน์โหลดเอกสารนี้ได้ที่
https://www.dropbox.com/sh/0wo5vw292fumuwl/AABU0MWnMQabGje-FUUqI971a?dl=0

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทําไมฝุ่นเข้มข้นในตอนเช้า ?

PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพ

ใครคือกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพของ PM 2.5