ผลกระทบของมลภาวะทางอากาศกับสุขภาพ
ผลกระทบของมลภาวะทางอากาศกับสุขภาพ
ในการประเมินคุณภาพของอากาศ มีการตรวจวัดและรายงานปริมาณความเข้มข้นของสารที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะ หรืออากาศเป็นพิษ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของอนุภาคที่แขวนลอยในอากาศ (particulate matter: PM) หรือในรูปของก๊าซ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ไนโตรเจนไดออกไซด์, คาร์บอนมอนอกไซด์ และ โอโซน
โดยในส่วนของอนุภาคที่แขวนลอยในอากาศ ประกอบด้วยส่วนผสมของอนุภาคที่เป็นของแข็งและของเหลว โดยสารเหล่านี้มีคุณลักษณะทางกายภาพชีวภาพและองค์ประกอบทางเคมีแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
ส่วนประกอบทางเคมีที่พบบ่อย ได้แก่ ซัลเฟต, ไนเตรท, แอมโมเนียม, อิออนอื่นๆในกลุ่มอนินทรีย์ (เช่น โซเดียม, โพแทสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม และคลอไรด์), สารคาร์บอนทั้งในรูปอินทรีย์และอนินทรีย์, ส่วนประกอบของเปลือกโลก, ส่วนของอนุภาคที่จับรวมตัวกับน้ำ, สารโลหะ (รวมถึง แคดเมียม, ทองแดง, นิกเกิล, วานาเดียมและสังกะสี) และสารไฮโดรคาร์บอนนอกจากนี้อาจพบสารชีวภาพ เช่น สารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ และเชื้อก่อโรค
สารอนุภาคที่แขวนลอยในอากาศ ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจากหลายกลไก เช่น
- ระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ เช่น สารที่เป็นกรดหรือด่าง
- สารทำให้เกิดการอักเสบ เพิ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น เกิดการกำเริบของโรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง เพิ่มอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
- สารที่เป็นพิษสามารถเข้าสู่กระแสเลือด เช่น ตะกั่ว แคดเมียม สังกะสี
- ผลจากปฏิกิริยาแพ้สารหรือไวต่อสิ่งกระตุ้นของร่างกายเช่น ฝุ่นจากผงไม้ เมล็ดข้าว ผงฝุ่นแป้ง และสารเคมี อื่นๆ
- การติดเชื้อจากแบคทีเรียและเชื้อราที่มีชีวิตในอากาศ
- สารทำให้เกิดพังผืดในบางอวัยวะ เช่น แร่ใยหินแอสเบสทอส (asbestos), แร่ควอท์ซ(quartz)
- สารก่อมะเร็ง เช่น แร่ใยหินแอสเบสทอส, โครเมท
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผลกระทบทางสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศ ได้แก่
- ส่วนประกอบทางเคมีและคุณสมบัติทางกายภาพของสารอนุภาคที่แขวนลอยในอากาศ
- ปริมาณและความเข้มข้นของสารที่ก่อให้เกิดมลภาวะ
- ขนาดของสารอนุภาค (สารที่ยิ่งมีขนาดเล็กจะมีผลกระทบกับสุขภาพมากกว่าสารที่ใหญ่กว่า เพราะจะถูกหายใจเข้าไปส่วนลึกของปอดได้มากกว่า และสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้สารขนาดเล็กจะลอยค้างอยู่ในอากาศ และถูกลมพัดพาไปได้ไกลกว่าสารขนาด
ใหญ่)
- ระยะเวลาที่ร่างกายสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดมลภาวะ เช่น ระยะสั้น (สัมผัสระยะเวลาเป็นวันหรือสัปดาห์) หรือ ระยะยาว (สัมผัสนานหลายเดือนหรือหลายปี)
- กลุ่มประชาชนที่สัมผัสมลภาวะ พบว่ากลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กและทารกหญิงตั้งครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคไตเรื้อรัง เป็นต้น) และผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานาน หรืออยู่ในอาคารที่ไม่ได้ปิดมิดชิด
สามารถดาวน์โหลดเอกสารเพื่อนำไปเผยแพร่ได้นะคะ
https://drive.google.com/open?id=1F97y9mAxLLgCt0MGtG4vS_GGwRwsJV-b
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น