ฝุ่นกับปรากฏการณ์อุตุนิยมวิทยา
ฝุ่นกับปรากฏการณ์อุตุนิยมวิทยา
ปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาที่มีผลต่อการกระจายตัวและความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศได้แก่
1. ลม ลมนั้นเป็นพาหะนำฝุ่นเดินทางไปในบรรยากาศ ในธรรมชาติลมในแต่ระดับความสูงจะพัดในทิศและความเร็วที่ต่างกัน ปัจจุบันเรามีเครื่องมือที่สามารถคำนวณย้อนกลับให้ทราบถึงเส้นทางการเดินทางของอนุภาคฝุ่น ซึ่งจะยืนยันถึงแหล่งกำเนิด
2. ฝน เรื่องของฝน มีทั้งฝนแล้งและฝนชุก
- ฝนแล้งทำให้พืชไร่และป่าแห้งติดไฟได้ง่าย เนื่องจากเป็นช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรอาจจะเลือกกำจัดวัสดุทางการเกษตรด้วยการเผา ทำให้เกิดฝุ่นชีวมวล ทุกปีเกษตรกรเผาอ้อยหรือนาข้าวนับสิบล้านไร่ ช่วงฝนแล้งมนุษย์จะเข้าไปในป่าและจุดไฟเผา เพื่อหาของป่าหรือล่าสัตว์ เมื่อเกิดไฟป่าจะควบคุมไม่ได้ อาจจะติดนับสัปดาห์จนกว่าไฟจะหมดเชื้อเพลิง แต่ละปีมีไฟป่าในประเทศไทยนับล้านไร่
-ในช่วงฝนชุก เม็ดฝนช่วยกำจัดอนุภาคฝุ่น PM 2.5 ในอากาศได้เป็นอย่างดี ด้วยการชนและดูดซับไว้ ฟ้าหลังฝนถึงสะอาดมองเห็นไปได้ไกล นอกจากนี้ไร่นาหรือป่าที่เปียกชื้นทำให้ยากต่อการติดไฟ ในช่วงฤดูฝนจะไม่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5
3. การผกผันของอุณหภูมิ ปกติแล้วยิ่งสูงขึ้นอากาศจะเย็นลงเพราะความกดอากาศลดลง แต่ถ้าอุณหภูมิอากาศคงที่หรือแม้แต่ร้อนขึ้นตามความสูงจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การผกผันของอุณหภูมิ (Thermal inversion) เหมือนกับฝาชีครอบปิดไว้ไม่ให้ฝุ่นลอยขึ้นไปได้เพื่อระบายออกจากแหล่งกำเนิด หากเราจุดกองไฟจะพบว่าควันไม่สามารถลอยขึ้นไปได้ เมื่อขาดการระบายความเข้มข้นของฝุ่นที่พื้นจะเพิ่มขึ้น
ในช่วงฤดูหนาวมักจะมีความกดอากาศสูงเข้ามาในประเทศไทย จะเกิดการผกผันของอุณหภูมิสองชั้น
- ชั้นแรกอยู่ติดกับพื้นดินสูงประมาณ 900 เมตร เกิดเวลากลางคืนมาถึงเช้า เนื่องจากในเวลากลางคืนแผ่นดินจะเย็นตัวลงได้มากกว่าอากาศเหนือพื้นและจะสลายไปในช่วงสายเมื่อแผ่นดินร้อนขึ้นหรือมีลม
- ชั้นที่สองอยู่ที่ระดับประมาณ 3,000 เมตร เกิดจากอากาศเบื้องบนจมลงมาช้าๆแล้วอุ่นขึ้นปกคลุมอากาศเบื้องล่างที่เย็นกว่าไว้ ชั้นที่สองนี้จะปกคลุมประเทศไทยไว้เกือบตลอดฤดูหนาว เมื่อหันหน้ามองออกจากหน้าต่างเครื่องบินจะเห็นฝุ่นปกคลุมพื้นไว้ในขณะที่อากาศเบื้องบนใสสะอาดมาก
สามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้ที่
https://www.dropbox.com/sh/yavziljfjm8l7h0/AAC06_nWqn0sJaW-WzhtBT4-a/ep5?dl=0&subfolder_nav_tracking=1
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น