เข้าใจนิเวศวิทยาไฟและระบบนิเวศสู่การจัดการไฟป่า


เข้าใจนิเวศวิทยาไฟและระบบนิเวศสู่การจัดการไฟป่า

   ปัญหาไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกปี อันมีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศที่ผันผวน รุนแรง และคาดเดายาก ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ในหลายๆด้าน

   อย่างไรก็ตาม ไฟ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับโลกมายาวนาน หลักฐานบางอย่างระบุว่า ไฟป่าเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 400 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งสังคมพืชจึงมีการปรับตัวให้อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมอันมีไฟเป็นปัจจัยจำกัดมาอย่างยาวนาน เช่น การมีเปลือกต้นไม้ที่หนา เมล็ดแข็ง แตกหน่อได้ การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติที่อาศัยไฟหรือความร้อนเป็นตัวกระตุ้นฯ





    ระบบนิเวศทั่วโลกจำนวนมาก เช่น
• ป่าสนในทวีปอเมริกาเหนือ
• สแกนดิเนเวีย
• รัสเซีย
• ป่ายูคาลิปตัสในทวีปออสเตรเลีย
• ทุ่งสะวันน่าในแอฟริกา
• รวมทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ
เหล่านี้ล้วนเป็นระบบนิเวศที่มีไฟเป็นตัวกำหนดการคงอยู่และความสมบูรณ์ (fire dependent ecosystem) โดยจะมีไฟเกิดขึ้นเป็นระยะตาม ความถี่ , ความรุนแรง และ ช่วงเวลา ที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยรักษาโครงสร้าง องค์ประกอบ ตลอดทั้งหน้าที่ในระบบนิเวศได้





    แต่หากไฟที่เกิดขึ้นมีลักษณะผิดปกติจากธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟที่ "เกิดบ่อยเกินไป" ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเหล่านี้ได้เช่นเดียวกันโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งปัจจุบันปัญหา ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นซ้ำซากในพื้นที่เดิมบ่อยๆ ได้ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ เช่น
• การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินจากการที่ธาตุอาหารถูกชะล้างออกไป
• การเสื่อมโทรมของต้นไม้และกระบวนการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ เป็นต้น
ดังนั้น การเข้าใจความถี่ของการเกิดไฟจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการจัดการระบบนิเวศเหล่านี้



     คำว่า ความถี่การเกิดไฟตามธรรมชาติแตกต่างกันไปตามระบบนิเวศ เช่น ป่าเต็งรัง มีความถี่ตามธรรมชาติที่เหมาะสมประมาณ 2-5 ปี ในขณะที่ในป่าสนเขตหนาวอาจมีความถี่ในระดับ 100 ปี ขึ้นไป ดังนั้น การจัดการไฟในพื้นที่เหล่านี้จะต้องคำนึงถึง "ไฟที่เหมาะสม" จะต้องไม่มุ่งเน้นเพียงการป้องกันหรือการควบคุม แต่ต้องพิจารณาถึงการใช้ไฟให้เป็นเครื่องมือในการจัดการพื้นที่ เพราะหากมุ่งเน้นเพียงการป้องกัน เชื้อเพลิงจะสะสมเพิ่มขึ้นๆ จนมีความเสี่ยงเกิดไฟที่รุนแรงผิดจากธรรมชาติซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศได้

     สำหรับระบบนิเวศป่าไม้นั้นยังมีระบบนิเวศอีกหลายประเภทที่ไฟเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวด (fire sensitive ecosystem) เช่น ป่าดงดิบต่างๆ รวมทั้งป่าพรุที่ซึ่งระบบนิเวศและสังคมพืชไม่มีกลไกการปรับตัวเพื่อรองรับกับไฟ ดังนั้น เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นจึงสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก และกระบวนการในการฟื้นฟูต้องใช้ระยะเวลายาวนานหรืออาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศเดิมไปโดยสิ้นเชิง ไฟในพื้นที่เหล่านี้จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง การจัดการไฟในพื้นที่เหล่านี้จึงต้องมุ่งเน้นการป้องกันเป็นสำคัญและการควบคุมไฟที่รวดเร็วเพื่อลดความสูญเสียของระบบนิเวศ

    โดยสรุป การจัดการไฟจะต้องเข้าใจบริบทของระบบนิเวศเป็นสำคัญและใช้การจัดการไฟที่เหมาะสมเพื่อให้ระบบนิเวศยังคงรักษาความสมบูรณ์เชิงโครงสร้าง องค์ประกอบและหน้าที่ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อย่ามุ่งแต่ ห้าม หรือ ละเลย โดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศนั้นๆ

บทความโดยทีมงานฝ่าฝุ่น
ข้อมูลโดย ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทําไมฝุ่นเข้มข้นในตอนเช้า ?

PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพ

ใครคือกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพของ PM 2.5