การชิงเผา อะไร ทำไม อย่างไร



การชิงเผา อะไร ทำไม อย่างไร?

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสคำว่า การชิงเผา หรือ การเผาตามหลักวิชาการ เริ่มได้ยินหนาหูขึ้นเรื่อยๆ 
ทั้งจากนักวิชาการ ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการควบคุมไฟป่าที่เสนอให้นำมาใช้ในการจัดการเชื้อเพลิงในป่าเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟไหม้รุนแรง แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจถ่องแท้ว่า “การชิงเผา” หรือที่ศัพท์อย่างเป็นทางการเราเรียกว่า “การเผาตามกำหนด (prescribed burning) ว่าคืออะไร มีเป้าหมายของการเผาเพื่ออะไร มีวิธีการดำเนินการอย่างไร


 “อะไร” 

 การเผาตามกำหนดคือการกระบวนการจัดการเชื้อเพลิงโดยการปฏิบัติการเผาอย่างเป็นระบบแบบแผนตามรูปแบบที่เหมาะสมในแต่ละบริบทของระบบนิเวศ สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศและลักษณะของเชื้อเพลิงที่ปรากฏ มีมาตรการในการติดตามผล การเผาตามกำหนดหากดำเนินการได้ถูกต้องเหมาะสมจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการเผาที่ไม่มีการวางแผนหรือไฟป่า การเผาตามกำหนดมีหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำการเผา 
  • หากดำเนินการเผาในช่วงต้นหรือก่อนฤดูไฟป่าจะมาถึง เรียกว่า ชิงเผา (early burning)
  • หากทำการเผาในช่วงปลายฤดูไฟป่าเรียกว่า เผาล่า (late burning)

“ทำไม”

 การเผาตามกำหนดเป็นมาตรการในการจัดการกับเชื้อเพลิงซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิง ลดความรุนแรงของไฟให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัด ลดผลกระทบจากการเผา ซึ่งการเผาตามกำหนดเป็นมาตรการสำคัญในการจัดการเชื้อเพลิง (fuel management) ซึ่งไม่ว่าจะเผาช่วงต้น หรือปลายฤดูไฟป่าต่างก็มีวัตถุประสงค์หลักตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น 
นอกจากนี้การเผาตามกำหนดอาจมีวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงได้ เช่น 
  • การเผาตามช่วงเวลาเพื่อทำลายวงจรชีวิตของแมลงหรือโรค 
  • การเผาเพื่อส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของพรรณไม้ในป่า 
  • การเผาเพื่อทำความสะอาดพื้นป่า 
  • การเผาเพื่อกระตุ้นให้เกิดหญ้าระบัดสำหรับเป็นอาหารของสัตว์ป่า
ตารางเปรียบเทียบผลกระทบของไฟ ระหว่าง ไฟป่า VS ไฟจากการเผาที่มีการควบคุม

 “อย่างไร” 

การเผาตามกำหนดจะดำเนินการโดยผู้ที่มีความชำนาญในการเผา ภายใต้รูปแบบ วิธีการที่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ โดยอาศัยข้อมูลสภาพระบบนิเวศ คาดการณ์สภาพอากาศ ภายใต้สภาพภูมิประเทศและลักษณะของเชื้อเพลิงที่ปรากฏ และจะต้องมีการเตรียมการก่อนการเผา เช่น 
  • การทำแนวกันไฟ 
  • การเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ 
  • การเตรียมความพร้อมของทีมเผา 
  • การประชาสัมพันธ์ แผนการเผชิญกรณีฉุกเฉิน 
  • การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดวัตถุประสงค์ของการเผาเพื่อประกอบการตัดสินใจรูปแบบ วิธีการ วันเวลาการเผาที่เหมาะสม 
ซึ่งวิธีการเผามีหลายวิธีขึ้นกับเป้าหมายของผู้จุดไฟว่าต้องการไฟในลักษณะที่มีความรุนแรง พฤติกรรมในลักษณะใด เช่น
  • ถ้าต้องการไฟที่ลามอย่างช้าๆ ความรุนแรงน้อยก็จะใช้เทคนิคการเผาสวนทิศทางลม (back firing) 
  • ถ้าต้องการไฟที่มีความร้อนสูง มีความรุนแรงมากเพื่อเผาทำลายเศษซากต่างๆ ให้หมดอาจใช้เทคนิคการเผาเป็นวงกลม (center firing) 
นอกจากนี้ หลังจากการเผาตามกำหนดดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องมีแผนการตรวจสอบติดตามผลการเผาเพื่อนำมาปรับปรุง ทบทวนการเผาในครั้งต่อไป
 จะเห็นว่า การเผาตามกำหนด หรือการเชิงเผาไม่ใช่สิ่งที่ใครคิดอยากจะเผาก็สามาถทำทันทีได้เลย แต่จะต้องวางแผนศึกษาอย่างรอบคอบและต้องเข้าใจในสิ่งต่างๆ ข้างต้นเป็นอย่างดี ในต่างประเทศที่งานการจัดการไฟป่าก้าวหน้ามากนั้น ผู้ที่จะทำการชิงเผาต้องผ่านการทดสอบมีใบรับรองการเผา หรือต้องมีการอบรมในหลักสูตรการเผาตามกำหนด เพราะหากดำเนินการผิดพลาด การเผาครั้งนั้นอาจกลายเป็นหายนะไฟป่าโดยไม่ได้ตั้งใจขึ้นและกระทบต่อระบบนิเวศและที่สำคัญอาจเป็นอันตรายต่อผู้จุดไฟเองได้


ตารางเปรียบเทียบพฤติกรรมไฟ ระหว่าง ไฟป่า VS ไฟจากการเผาที่มีการควบคุม
 สำหรับประเทศไทย การเผาตามกำหนด ด้วยการชิงเผากล่าวได้ว่ายังไม่มีการดำเนินการตามหลักการอย่างเข้มข้นจริงจัง แต่อาศัยการเผาโดยใช้ประสบการณ์ของผู้จุดไฟเป็นสำคัญ ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนชาวบ้านที่ปัจจุบันทำการชิงเผาจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะทีดีพอ 

ดังนั้น หลักสูตร การเผาที่ปลอดภัย (safe burning) สำหรับชุมชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจึงมีความจำเป็นอย่างมาก รัฐบาลควรจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวก่อนที่ นโยบายการเผาตามกำหนด จะถูกระบุให้เป็นภารกิจที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นสามารถดำเนินการในการจัดการไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบ


บทความโดยทีมงานฝ่าฝุ่น
ข้อมูลโดย อ.กอบศักดิ์ วันธงไชย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทําไมฝุ่นเข้มข้นในตอนเช้า ?

PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายอย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพ

เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยตัวเอง